คลื่น 2300MHz คืออะไร ทำไมถึงให้ใช้เน็ตล้ำกว่า ยืดหยุ่นเหมือนปรับช่องรถในเมือง

คลื่น 2300MHz คืออะไร ทำไมถึงให้ใช้เน็ตล้ำกว่า ยืดหยุ่นเหมือนปรับช่องรถในเมืองยามเช้า

หลายคนทราบว่าทีโอทีกับดีแทคเซ็นสัญญากันเพื่อนำคลื่นใหม่ 2300MHz มาเปิดให้บริการ 4G LTE-TDD ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก และกำลังจะเปิดให้บริการเร็วๆ นี้ ความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศไทยให้ทัดเทียมกับประเทศชั้นนำของโลก แต่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าคลื่นใหม่มีดีกว่าอย่างไร ทำไมหลายๆ ประเทศที่ประชากรรวมกันหลายพันล้านคนอย่างจีนและอินเดียเลือกใช้

คลื่นความถี่ไม่ยากกับความเข้าใจ ถ้าลองมองดูนึกภาพให้เหมือนถนนมีหลายช่องจราจร รถวิ่งสวนทางสองฝั่งถนนในจำนวนช่องทางเท่าๆ กัน แต่จะดีกว่าหรือไม่ เพราะช่วงเวลาแต่ละวันมีรถใช้งานสองฝั่งไม่เท่ากัน ตอนเช้าฝั่งเข้าเมืองรถมาก แต่ตอนเย็นเป็นฝั่งออกนอกเมืองเพราะคนกลับบ้าน คลื่นเองก็ต้องมีสองฝั่งทั้งรับและส่งดาต้านั่นเอง

 

คลื่น 2300 MHz ให้ใช้เน็ตล้ำกว่า ยืดหยุ่นเหมือนปรับช่องรถขาเข้า-ขาออกเมืองในยามเช้า

 

2300 MHz ถนนขนาดใหญ่ที่ปรับเปลี่ยนการจราจรได้ตามความเหมาะสม

คลื่น 2300 MHz ซึ่งเป็นคลื่นที่มีขนาดกว้างที่สุด คือมีขนาด 60MHz กว้างเป็นผืนเดียว ไม่มีการตัดแบ่งจากกัน ดังนั้นถ้านำมาให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง จะให้ประสิทธิภาพที่ดีที่สุด

และนี่คือครั้งแรกในประเทศไทยที่กำลังมีคลื่นใหม่ 2300 MHz มาเปิดให้บริการเร็วๆ นี้

จินตนาการเหมือนถนนขนาด 8 เลน ไม่ต้องแบ่งขาเข้า-ขาออก อย่างละครึ่ง แต่สามารถแบ่งได้ตามความต้องการ เช่น ตอนเช้าคนใช้รถเข้าเมืองมากกว่า เราจะแบ่งถนนขาเข้า 7 เลน และขาออกแค่ 1 เลน หรืออาจปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลาเพื่อความสะดวกคล่องตัวและเหมาะสมกับการใช้งาน

คิดง่ายๆ ว่าถ้ายืนอยู่กลางย่านสยาม ที่มีคนจำนวนมหาศาล ทุกคนใช้งาน Facebook, YouTube หรือ Google พร้อมกัน หรือพูดง่ายๆ ถ้าทุกคนกำลังดู LIVE ผ่านสมาร์ทโฟน นั่นคือการใช้งานขา Downlink มากมายมหาศาลพร้อมกันจนคลื่นไม่พอ แต่ขา Uplink กลับมีพื้นที่เหลือไม่ค่อยมีคนใช้งาน แต่ถ้าปรับสลับกันโดยนำพื้นที่ที่เหลือของ Uplink มาใช้งานเพิ่มให้กับขา Downlink ด้วยล่ะ จะดีกว่าแน่นอน คอนเทนต์ทุกอย่างจะวิ่งลื่นขึ้น นี่คือ ผลลัพธ์ที่แตกต่างของการใช้งานคลื่นความถี่ 2300 MHz

แต่จะทำแบบนั้นได้ ต้องใช้งานบนเทคโนโลยีที่เรียกว่า 4G LTE-TDD

 

dtac logo โลโก้

 

4G LTE – TDD เทคโนโลยีเพื่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

นี่คือเรื่องเทคนิคที่อาจจะมีความซับซ้อนอยู่บ้าง แต่สามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยาก โดยเทคโนโลยีบนคลื่นความถี่ต่างๆ แบบเดิมคือ เทคโนโลยี FDD (Frequency Division Duplex) ใช้ให้บริการ 4G บนคลื่นความถี่ 1800 และ 2100MHz เทคโนโลยีนี้เดิมถูกออกแบบมาเพื่อให้บริการด้านเสียง (Voice) เป็นหลัก มีการแบ่งใช้งานคลื่นความถี่เป็นรับข้อมูล หรือ Downlink และ ส่งข้อมูล หรือ Uplink โดยต้องแบ่งเท่าๆ กัน

เช่น คลื่นความถี่ 2100MHz ที่ให้บริการ 4G ในประเทศไทย หรือ เรียกว่า 4G LTE-FDD แบ่งเป็น Downlink 15MHz และ Uplink 15MHz เท่าๆ กันเป็นข้อจำกัดทางเทคโนโลยีที่ไม่สามารถขยับคลื่นได้ ดังนั้นถ้าพื้นที่มีการรับข้อมูล Downlink ปริมาณมาก อินเทอร์เน็ตก็จะช้าลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งแน่นอนว่าการใช้งาน Downlink จะใช้มากกว่า

จะดีกว่าหรือไม่ถ้าไม่ต้องโดนบังคับให้แบ่งคลื่นใช้งานแบบเดิม ถ้า Downlink ใช้งานมากกว่า Uplink เราจะให้สัดส่วนคลื่นทาง Downlink มีจำนวนมากกว่าเพื่อรองรับปริมาณการใช้งานที่มากกว่า

สำหรับ TDD (Time Division Duplex) เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเพื่อการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงโดยเฉพาะ ใช้งานทั้งรับและส่งข้อมูลบนคลื่นความถี่ผืนเดียวกัน ไม่ต้องแบ่งแบบ FDD หรือแบบคลื่นความถี่เดิม ถ้ายิ่งมาใช้ 4G LTE-TDD บนคลื่นความถี่ 2300 MHz ซึ่งกว้างที่สุดถึง 60 MHz จึงมีความยืดหยุ่นสูง ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ และปรับให้เข้าได้กับแต่ละพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น

ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบแล้ว ไม่ใช่แค่มีถนนกว้าง 8 เลนเท่านั้น แต่สามารถปรับเปลี่ยนขาเข้า (รับข้อมูล) และขาออก (ส่งข้อมูล) ได้ตามความกว้างเหมาะสมกับการใช้งานจริง นี่คือ 4G LTE-TDD

กล่าวได้ว่า 4G LTE-TDD เป็นเทคโนโลยีที่รองรับการใช้งานทั่วไป รองรับการแข่งขันทางธุรกิจ และรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และยังเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่ต่อยอดไปสู่เทคโนโลยี 5G ในอนาคตอีกด้วย

เข้าใจพื้นฐานเทคโนโลยี เพื่อบริการที่ดีกว่า

ในฐานะผู้ใช้บริการ การเข้าใจในพื้นฐานทางเทคโนโลยีจะช่วยให้สามารถเลือกใช้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งล่าสุดคลื่นความถี่ 2300 ถูกนำออกมาใข้งานในประเทศไทยแล้ว โดยความร่วมมือระหว่างทีโอทีและดีแทค โดยมีสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ในตลาดรองรับอยู่แล้ว โดยสมาร์ทโฟน 4G จำนวนประมาณ 70% รองรับการใช้งาน ซึ่งมีราคาเริ่มตั้งแต่หลักพันถึงหลักหมื่นบาท

ความร่วมมือเพื่อพัฒนาและขยายบริการให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพดีขึ้น จะเปลี่ยนโฉมหน้าบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในประเทศไทยให้แตกต่างไปจากเดิม และผู้ใช้บริการจะได้รับบริการที่ดีกว่าแน่นอน