dtac -รักบ้านเกิด-กรมส่งเสริมการเกษตร ประกาศผลรางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี 2559

dtac – รักบ้านเกิด – กรมส่งเสริมการเกษตร ประกาศผลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี 2559 สนับสนุนการทำเกษตรแบบครบวงจร เพื่อทางรอดที่ยั่งยืนของเกษตรกรไทย

บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ dtac มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด และกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศผลรางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี 2559 โดยเกษตรกรผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ที่มุ่งเน้นการทำเกษตรแบบครบวงจรคือ นายอายุ จือปา วัย 31 ปี ชาวเขาเผ่าอาข่าจากจังหวัดเชียงราย ผู้ตั้งปณิธานน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันให้เกิดผลประโยชน์มากที่สุด

dtac smart farmer

แนวคิดสำคัญในการทำเกษตรแบบครบวงจร ประกอบด้วย 1.ทักษะการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม แรงงาน ทุน การเพาะปลูก เพาะเลี้ยง และผลิตวัตถุดิบทางการเกษตร 2.ทักษะการแปรรูปให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค เป็นไปตามระบบมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร โดยอยู่บนพื้นฐานการใช้องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ ประยุกต์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผสมผสานการใช้นวัตกรรม และมุ่งมั่นยกระดับผลิตภัณฑ์การเกษตรให้มีคุณภาพมากขึ้น และ 3.ทักษะที่แสดงถึงความเป็นเกษตรกรมืออาชีพ วางแผนในเชิงธุรกิจและการตลาด ตลอดจนความพร้อมในการแบ่งปันบทเรียนและถ่ายทอดประสบการณ์ความสำเร็จเพื่อเป็นแบบอย่างแก่สาธารณะ

นายอายุ เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์จากกาแฟคุณภาพดีแบรนด์ ‘อาข่า อ่ามา’ เกิดและเติบโตในชนเผ่าอาข่า ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานที่อยู่ ที่ทำกิน ความรู้ และอนาคตที่ดีให้ จากการริเริ่มปลูกพืชผัก ผลไม้เมืองหนาว ชา กาแฟ ที่เป็นพันธุ์พระราชทาน มาสู่การสร้างเครือข่ายส่งเสริมให้ชาวบ้านผลิตกาแฟ พัฒนาสายพันธุ์ให้ดีขึ้น และมีส่วนผลักดันให้กาแฟจากชุมชนบ้านแม่จันใต้ผงาดขึ้นเวทีโลกได้อย่างไม่อายใคร ปัจจุบันเขาดูแลกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ จากวิธีการปลูก การใช้น้ำ การตาก การเก็บ กลางน้ำ คือ การแปรรูป และทำบรรจุภัณฑ์ ไปจนถึงปลายน้ำ คือ การจำหน่ายให้ผู้บริโภคโดยการทำธูรกรรมการเงินผ่านระบบออนไลน์

รองชนะเลิศอันดับ 1 คือ นายพงษ์พัฒน์ แก้วพะเนาว์ จากจังหวัดมหาสารคาม เกษตรกรผู้หยิบยกปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการทำฟาร์มผักออร์แกนิก ‘แก้วพะเนาว์ ยัง สมาร์ท ฟาร์เมอร์’ ปฏิวัติแนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่หันหลังให้อาชีพเกษตรกร นำประสบการณ์ของนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศอิสราเอล เริ่มจากการปรับสภาพดิน บริหารจัดการน้ำ และปรับระบบนิเวศ จนสามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติของพ่อแม่และชาวบ้านที่เคยมองว่าอาชีพนี้ลำบาก

รองชนะเลิศอันดับ 2 คือ นางสาวศิริวิมล กิตะพาณิชย์ จากจังหวัดเชียงราย ทำเกษตรครบวงจร ปลูกข้าวและผักอินทรีย์ ภายใต้แบรนด์ ‘ไร่รื่นรมย์’ ใช้นวัตกรรมพลังงานทางเลือก จัดสรรพื้นที่และแปลงปลูกอย่างเป็นระบบ และมีกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ

นายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด กล่าวว่า “มูลนิธิฯ ขอแสดงความยินดีกับเกษตรกรทั้ง 10 ท่าน ผู้เป็นต้นแบบของเกษตรกรที่พัฒนาศักยภาพได้อย่างเต็มที่ แนวคิดเกษตรครบวงจร มีเกณฑ์และตัวชี้วัดที่เข้มข้นเป็นพิเศษ โดยพิจารณาตั้งแต่ขั้นตอนแรกของการทำเกษตร คือ การคิดวิเคราะห์ วางแผนการจัดการ เพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก เพิ่มจำนวนและคุณภาพของผลผลิต ลดต้นทุน ลดเวลา ลดการสูญเสียทรัพยากร ไปสู่การจัดจำหน่ายถึงมือผู้บริโภค หรือเรียกว่า ‘จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ’ เป็นแนวทางให้เกษตรกรรุ่นใหม่นำไปปรับใช้และสามารถเป็นที่พึ่งพาแก่เพื่อนเกษตรกรและชุมชนได้อย่างดีเยี่ยม”

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า “กรมส่งเสริมการเกษตร มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมให้เกษตรกรเป็นศูนย์กลางการพัฒนา มุ่งเน้นให้ระบบการผลิตทางการเกษตรมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้น พร้อมทั้งผลักดันให้เกษตรกรเป็น Smart Farmer ทำการผลิตทางการเกษตรในลักษณะ Smart Agriculture นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนา Young Smart Farmer ซึ่งเป็นอนาคตเกษตรกรรมไทยให้สามารถเชื่อมโยงภาคเกษตรเข้ากับนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่”

“ความร่วมมือกับดีแทค และมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด ในการจัดประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ก่อให้เกิดการพัฒนา และเชิดชูเกษตรกรต้นแบบที่มีความภาคภูมิใจในอาชีพ นอกจากนั้น ความร่วมมือกับดีแทคในการส่งเสริมการเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร โดยการจัดอบรม ‘การเกษตรเชิงพาณิชย์’ ให้กับเกษตรกรทั่วประเทศยังบรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้การพัฒนาภาคเกษตรไทยเกิดความก้าวหน้าอย่างยั่งยืน” นายสมชายกล่าวเพิ่มเติม

Smart Farmer

จากซ้าย นายวิชัย เบญจรงคกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บจ.เบญจจินดา โฮลดิ้ง นางสาวภาณี บุณยเกื้อกูล ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตร นางสาวศิริวิมล กิตะพาณิชย์ เกษตรกรผู้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 นายอายุ จือปา เกษตรกรผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ นายพงษ์พัฒน์ แก้วพะเนาว์ เกษตรกรผู้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น และนายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด

นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค กล่าวว่า “หนึ่งในเป้าหมายหลักของดีแทคคือ การนำเทคโนโลยีมาพัฒนาให้เกษตรกรไทยก้าวไปสู่ความเป็น Smart Farmer เนื่องจากเราเป็นประเทศที่มีฐานการผลิตเชิงเกษตรกรรม ที่ผ่านมา ดีแทคได้ร่วมกับภาครัฐ สนับสนุนการทำการเกษตรโดยนำนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์ ติดอาวุธให้เกษตรกรรุ่นใหม่ที่ต้องการพัฒนาศักยภาพ โดยได้ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร จัดอบรมหลักสูตรการเกษตรเชิงพาณิชย์ให้กับ Young Smart Farmer ที่กรมฯ เป็นผู้คัดเลือกจากทั่วประเทศไปแล้วกว่า 3,000 คน ซึ่งสร้างช่องทางให้เกษตรกรรอดพ้นจากวงจรราคาสินค้าเกษตรตกต่ำได้”

“ในอนาคตอันใกล้นี้ ดีแทควางโรดแมพโดยมุ่งเน้นการทำเกษตรแบบแม่นยำ และสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการเกษตร หรือ Agri Tech นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการแก้ปัญหาสำคัญทางการเกษตร หรือการสร้างธุรกิจใหม่ทางด้านการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) ดีแทคยังมีแผนที่จะสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่าง Agri Tech กับ Smart Farmer ที่เหมาะสม เพื่อที่จะสามารถนำความรู้ทางการเกษตรที่มีอยู่ผสานกับเทคโนโลยีใหม่ที่จะช่วยให้วิทยาการด้านการเกษตรของไทยกลายเป็นผู้นำแนวหน้าของโลก ซึ่งจะเป็นการช่วยผลักดันโมเดล “ประเทศไทย 4.0” ของรัฐบาล เปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ Value- Based Economy หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมในที่สุด” นายลาร์สกล่าวปิดท้าย

รายชื่อเกษตรกรที่เข้ารอบสุดท้าย 10 ท่าน

ลำดับ ชื่อ – สกุล จังหวัด ผลิตภัณฑ์ และจุดเด่น
1 คุณสุจิตรา จันทะศิลา ศรีสะเกษ ปลูกพริก หอมแดง และกระเทียม พัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ และต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปหลากหลายชนิด ภายใต้แบรนด์ “สุจิตรา”
2 คุณศุภชัย เณรมณี อ่างทอง ฟาร์มผักศุภัสสร พัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องเพื่อผลิตสินค้าคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ทำให้สามารถกำหนดราคาผลผลิตได้เอง
3 คุณโอภาส หรดี ลพบุรี มีไร่ดอกทานตะวันสำหรับนักท่องเที่ยว เมื่อดอกแห้งเก็บเกี่ยว คัดเมล็ดเพื่อนำไปเพาะเป็นต้นอ่อนทานตะวัน กระบวนการผลิตใส่ใจเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
4 คุณศิวกร โอ่โดเชา เชียงใหม่ ปลูกพลับ สาลี่และอโวคาโด้อินทรีย์ ผลิตกาแฟคั่ว และกาแฟคั่วทำมือ ในชุมชนดั้งเดิมเผ่าปกาเกอะญอ ที่มีอายุมากกว่า 300 ปี
5 คุณศรัณยา กิตติคุณไพศาล เชียงใหม่ ปลูกข้าว ปลูกผัก และทำการเกษตร ณ เชิงดอยหลวงเชียงดาว สูงจากระดับน้ำทะเล 400 เมตร สร้างเครือข่ายตลาดผู้บริโภคผ่านโครงการผูกปิ่นโตข้าว
6 คุณประกิต โพธิ์ศรี ระยอง เพาะพันธุ์หม้อข้าวหม้อแกงลิง สร้างสายพันธุ์ใหม่โดยการผสมเองอย่างต่อเนื่อง แสวงหาข้อมูลและใช้สื่อออนไลน์เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้า
7 คุณพงษ์พัฒน์ แก้วพะเนาว์ มหาสารคาม นักปลูกผัก ผู้คิดค้นรูปแบบบริหารจัดการน้ำบนพื้นที่แห้งแล้ง สร้างระบบให้น้ำและปุ๋ยชีวภาพกับพืชผักโดยตรง ภายใต้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์
8 คุณอายุ จือปา เชียงราย ปลูกและพัฒนากาแฟอาข่า อ่ามา ผลิตภัณฑ์คุณภาพดีจากพื้นที่ดอยสูง ใช้เครื่องAfter burner ลดมลภาวะทางอากาศ และใช้ระบบธุรกรรมการเงินออนไลน์
9 คุณศิริวิมล กิตะพาณิชย์ เชียงราย ปลูกข้าวอินทรีย์ ผักอินทรีย์ เลี้ยงสัตว์ ใช้นวัตกรรมพลังงานทางเลือก จัดสรรพื้นที่และแปลงปลูกอย่างเป็นระบบ จัดการและดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ
10 คุณอรณี สำราญรื่น กาฬสินธุ์ ปลูกหญ้าเพื่อจำหน่ายแบบสด ท่อนพันธุ์  หญ้าสับ หญ้าหมัก พร้อมสร้างแหล่งเรียนรู้สาธารณะเรื่องการปลูกหญ้าเป็นเสบียงอาหารสัตว์